วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๔
ณ ห้องประชุม ชั้น ๔ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
การตื่นขึ้นทางวัฒนธรรม
เมื่อระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกของศตวรรษที่ ๑๘ กำลังจะกลายเป็นรูปแบบของกติกาทางอำนาจ ที่เอื้อประโยชน์ต่อแกนอำนาจของพรรคการเมือง ก็อาจกล่าวได้ว่าสังคมเรากำลังก้าวเข้าสู่กับดักทางการเมือง ซึ่งโลกตะวันตกเจ้าตัวแบบทาการเมืองเองกำลังหลีกหนี
ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งไม่ค่อยจะมีใครนึกถึงก็คือ การใช้มายาคติของลัทธิเลือกตั้งนิยม มาเป็นเงื่อนไขของความชอบธรรมทางการเมือง แทนที่จะถือเอาประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหา ให้แก่กลุ่มชนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างฉับไวนั้น เท่ากับกลุ่มนักเลือกตั้ง ได้ทำให้เกิดความขึงตึงทางอุดมการณ์ประชาธิปไตย ขึ้นมาในชีวิตทางการเมืองของประเทศทันที ทั้งๆ ที่สังคมไทยเป็นสังคมเปิดและประนีประนอมเหมือนกับสังคมตะวันออกโดยทั่วไป
Octavio Paz กวีชาวเม็กซิกันเป็นผู้เขียนเรื่อง The Labyrinth of Solitude (๑๙๕๐) และเป็นผู้ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันได้เคยวิจารณ์วัฒนธรรมตะวันตก และวัฒนธรรมตะวันตก และวัฒนธรรมลาตินอเมริกันไว้ว่า มีพรสวรรค์ในการทำให้ฝ่ายที่ออยู่ตรงกันข้ามกัน (คู่ขัดแย้ง) ไม่สามารถตกลงประนีประนอมกันได้ แต่ในวัฒนธรรมตะวันออกนั้น เป็นวัฒนธรรมที่มีอัจฉริยภาพ ในการทำให้สิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้ เขายกตัวอย่างพุทธศาสนา ซึ่งเขาเห็นว่า เป็นปรัชญาที่วิพากษ์ความเป็นจริง และสภาวะของมนุษย์ ได้อย่างน่าพิศวง โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องสูญญตา ซึ่งเป็นสภาวะที่ความเป็นอยู่และความไม่มีอยู่ ความจริงและความไม่จริง รวมอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันไม่ขัดแย้งกัน ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากมายาภาพเท่านั้น ข้อสังเกตของ Paz มีความสำคัญต่อปัญหาที่เรากำลังพิจารณาอยู่ก็คือ ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยของตะวันตกนั้น มาจากวัฒนธรรมตะวันตก ที่ไม่ยอมประนีประนอมความขัดแย้งที่เป็นคู่ตรงข้าม วัฒนธรรมนี้มีรากเหง้ามาจากลัทธิพระเจ้าองค์เดียวของชาติยิว วัฒนธรรมแบบนี้จึงมักจะมองทุกอย่างเป็นขาวกับดำไปหมด ในทางการเมืองก็เช่นกัน การมองอะไรเป็นขาวกับดำ หรือเทพกับมาร ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
นับวันนักการเมืองของเราก็มักมีพฤติกรรมทางการเมืองในลักษณะที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมากขึ้น ดังจะเห็นจากความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล นอกจากนั้น คุณค่าหรือวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมพุทธ ที่เรานับถือกันมานาน เช่น การรักษาวาจา การไม่ตลบตะแลง การรู้จักความผิด ความบกพร่องของตนเอง และยอมรับผิดก็กำลังถูกการเมืองทำให้สามานย์ ดังกรณีสัตยาบันที่กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย เป็นต้น
ดังนั้น การเมืองไทยจึงทำให้คุณค่า และวัฒนธรรม เสื่อมทรามลงมากขึ้น แม้สังคมไทยจะมีความมั่นคงทางวัฒนธรรม แต่การเมืองปัจจุบันต่างกันกับการเมืองในยุคก่อน ซึ่งแม้จะมีระบอบการเมืองดั้งเดิม ให้ความสำคัญต่อความชอบธรรม ที่ผูกพันอยู่กับเงื่อนไขทางศีลธรรม และคุณธรรม สูงผิดกับการเมืองในปัจจุบัน นอกจากนักการเมืองบางคน มีคุณค่าส่วนตัวที่ไม่สนไยดีศีลธรรมคุณธรรมอยู่แล้ว ก็ยังนำความบกพร่องทางศีลธรรมส่วนตัวนั้น มาทำให้คุณค่าที่สาธารณชนยังคงยึดมั่นอยู่ยิ่งสั่นคลอนไปอีก
ปัญหาประชาธิปไตยในยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง จึงเป็นปัญหาทางด้านวัฒนธรรมเป็นด้านหลัก มิใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาการเมืองหรือเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจากในยุคโลกานุวัตรนี้เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าในยุคสมัยใด เพราะยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคทันสมัยสุดเหวี่ยงและซับซ้อนนี้ มนุษย์เราต้องพยายามรักษาสภาพสมดุลระหว่างหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหลายๆ ด้าน เรื่องชุมชน เรื่องของชาติและนานาชาติ ท่ามกลางความซับซ้อนหลากหลาย ที่โหมเร้าด้วยความรวดเร็วของธุรกรรมข้อมูลข่าวสาร และห้อมล้อมไปด้วยปัญหานานัปการนี้ มนุษย์เราจะวางตัวเองไว้อย่างไร ตัวเองและเพื่อนร่วมสังคมจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างอยู่เย็นเป็นสุข
การเมืองจะช่วยเราให้มีสภาพการณ์ดีขึ้นหรือเลวลง ในเวลานี้ทุกคนคงมีความรู้สึกว่าสถานการณ์กำลังเลวลงเป็นลำดับ ยิ่งมีความสับสนทางคุณธรรมและคุณค่า เพราะกิจกรรมทางการเมือง กำลังให้นิยามคุณค่าบางคุณค่าเสียใหม่ ดังที่เราพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเช่นนี้ จึงจะต้องเรียกร้องให้เราหันมาให้ความสนใจต่อแนวคิดและคุณค่าของพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นปรัชญาอันควรแก่การนำมาใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการเมืองมากขึ้น
เราจะต้องรู้จักแยกแยะระหว่างการศึกษาหาความรู้จากพุทธปรัชญา แล้วน้อมนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติทางการเมืองกับการนำศาสนามา "เกี่ยวข้อง" กับการเมือง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
แนวคิดของท่านพุทธทาสในการนำเรื่อง สูญญตา มาเป็นแก่นแกนของการพัฒนาชีวิตและการดำเนินชีวิต นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงพื้นฐานของชีวิตกับชีวิตด้านต่างๆ ของเราในชีวิตทางการเมืองของสังคม การย้อนกลับไปศึกษาเรื่องสูญญตา ก็จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับอิทธิพลและอำนาจได้เข้าใจสัจธรรมและสภาวะที่มนุษย์เราต้องเผชิญอยู่ได้
โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่มันเป็นไป ไม่อาจหมุนเข็มนาฬิกากลับได้ ประเด็นหลักของสังคมทุกสังคมก็คือ เราจะสามารถหาสภาวะที่พึงพอใจจากความขัดแย้งหลายๆด้าน ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วนี้ได้อย่างไร
ถ้าเราเริ่มต้นจากความเข้าใจว่า โลกปัจจุบันและอนาคตเป็นโลกของความหลากหลาย (Diversity) ซับซ้อน (Complex) มีความเกี่ยวกันพึ่งพาต่อกันไปหมด (Interdependence) มีลักษณะเครือข่าย (Network) ซึ่งความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์แบบชีวภาพ (Biological) มากกว่าแบบจักรกล (Mechanical) โดยความหลากหลายซับซ้อนนี้ เป็นความแตกต่างที่ไม่จำเป็นจะต้องก่อให้เกิดความแตกแยกโดยอัตโนมัติเสมอไป หากเป็นธรรมดาของธรรมชาติ
นอกจากนี้ ถ้าเราเข้าใจสัมพันธภาพเชิงชีวภาพเช่นนี้แล้ว เราจะไม่แยกแยะความสัมพันธ์ของมนุษย์ หรือระหว่างมนุษย์กับชุมชนออกเป็นด้านๆ แบบที่แต่ละด้านมาเกี่ยวกันภายหลัง แต่เราจะมองมนุษย์และชุมชนเป็นภาพเดียวกันทั้งหมด (Holistic) ดังนั้น สิ่งที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นก็คือ วัฒนธรรมเกิดก่อนการเมือง เพราะภาษาคือวัฒนธรรมรูปแบบแรก เราจึงต้องพิจารณาสิ่งที่เราเรียกว่า การเมืองจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมดังได้กล่าวมาแล้ว
ในปัจจุบัน ได้มีการทบทวนความคิดพื้นฐานทางวัฒนธรรมมากขึ้น แล้วน้อมนำเอาความคิดนั้นไปทำความเข้าใจกับตัวแบบทางการเมือง การตื่น (Awakening) ทางวัฒนธรรมจึงเป็นการตื่นทางปัญญาที่สำคัญยิ่ง เพราะวัฒนธรรมวัฒนธรรมตะวันออก มิใช่วัฒนธรรมใหม่หากเป็นวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดเมืองอาณาจักรและมหาอาณาจักรมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นอย่างรุนแรงว่า การตื่นขึ้นทางวัฒนธรรม เป็นเงื่อนแรกของการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของประเทศไทย
Shuichi Kato นักคิดคนสำคัญของญี่ปุ่นผู้เขียน A History of Japanese Literature และ Form, Style and Tradition ชี้ให้เห็นว่าในขณะที่เศรษฐกิจอเมริกันกับญี่ปุ่นมีความเหมือนกันมากยิ่งขึ้นทุกขณะ เพราะใช้รถประเภทเดียวกัน ดูวีดีโอและบินด้วยเครื่องบินประเภทเดียวกัน แต่แนวคิดพื้นฐานเรื่องกาล (Time) และเทศะ (Space) ต่างกันอย่างฟ้ากับดิน
แนวคิดเรื่องกาลของอเมริกันและของตะวันตกโดยทั่วไป เป็นความคิดที่มาจากคัมภีร์เก่า (Old Testament) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของยิว - คริสเตียน (Judeo - Christian) ตามแนวคิดนี้ กาลมีโครงสร้างที่แน่นอนคือ ถูกกำหนดให้มีจุดเริ่มต้น กำเนิด มีที่มาและจุดจบ ดังที่เรียกว่า a beginning, Genesis, an end แม้ Stephen Hawkings เองก็คิดว่าจักรวาลมีจุดเริ่มต้นคือ Big Bang และต้องมีจุดจบ
กาลหรือเวลานี้มีการคลี่คลายขยายตัวจากเวลาหนึ่งไปสู่อีกเวลา (หรือยุค) หนึ่ง โดยเคลื่อนตัวเป็นเส้นตรงและไม่ซ้ำรอยเดิม กาลก้าวไปจากอดีตที่เรารู้จักไปสู่จิตใหม่ที่เราไม่รู้จัก เช่น ใน Exodus ได้มีการเลือกที่จะทิ้งระบบทาสไว้ข้างหลัง และก้าวต่อไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ชัดเจนคือ ไปสู่ "ดินแดนสัญญา" (The Promised Land) จุดที่ตัดสินใจไปแล้วผ่านเลยไปโดยไม่มีวันหวนกลับคืนมาอีก
ในแนวความคิดของตะวันออก เวลาไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด มีแต่อนันตกาลไม่รู้จุดจบ (Infinity) และซ้ำรอยเดิม (Repetition) กาลหรือเวลาเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่คลี่คลายขยายตัวไปจากปัจจุบัน สายใยแห่งประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่มีความต่อเนื่องดุจกระแสน้ำที่ไม่มีการแบ่งตัดตอนเป็นยุคสมัย ดังนั้น "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" จึงมีความสำคัญเฉพาะตัวของมันเอง ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของอดีตหรือปัจจุบันกาลจึงไม่มีโครงสร้าง เพราะกาลมีความหมายผูกพันกับ ขณะนี้,บัดนี้ (Present, moment) ดังคำกล่าวที่ว่า
วันวาน คือ ความทรงจำ (Yesterday is a Memory)
วันพรุ่ง คือ สิ่งที่ไม่รู้ (Tomorrow is the Knowing)
บัดนี้ คือ พุทธะ (Now is the Knowing)
ในแง่นี้ทางตะวันออกจึงไม่มีความคิดที่ว่า ประวัติศาสตร์ถูกกำหนดโดยการตัดสินใจของมนุษย์ ที่จะเคลื่อนตัวจากอดีตไปสู่แผ่นดินที่พระเจ้าได้ให้สัญญาไว้นอกจากความคิดเรื่องกาลแล้ว ความคิดเรื่องเทศะ (Space) ของตะวันออกก็ยังแตกต่างไปจากฝ่ายตะวันตกอีกด้วย ทางฝ่ายตะวันตกนั้น ปัจเจกบุคคลนิยมเป็นแก่น แกนหลักของระเบียบทางวัฒนธรรมมุ่งรับใช้บุคคลเป็นสำคัญ แต่ในความคิดตะวันออก ไม่มีปัจเจกบุคคล ในความหมายของตะวันตก เพราะแต่ละคนต่างเป็นส่วนหนึ่งที่แนบแน่นกับกลุ่มกับกลุ่มหรือชุมชน เช่น หมู่บ้าน ด้วยเหตุนี้เองที่แต่ละบุคคลจะถูกอบรมบ่มเพาะให้อ่อนน้อมถ่อมตนให้ลดอัตตา ลดความสำคัญของตนเอง ให้ความสำคัญกับชุมชน และกลุ่มคนแต่ละคนต้องปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มและชุมชนให้ได้ การปรับตัวจึงเป็นวิถีทางวัฒนธรรมที่สำคัญ พิจารณาในแง่นี้ สังคมเปิดของตะวันออก จึงน่าจะมีลักษณะแตกต่างไปจากสังคมเปิดของตะวันตกในข้อที่ว่า เมื่อพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง สังคมเปิดของตะวันตกที่เน้นความสำคัญของปัจเจกบุคคลหรือชุมชนหรือชนกลุ่มน้อย แต่รากฐานทางความคิดและขนบประเพณี ตลอดจนสภาพการดำรงชีวิต - ประกอบอาชีพของสังคมตะวันออก มีผลทำให้สังคมเปิดของตะวันออกเป็นสังคมเปิด ไม่เฉพาะของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่สำหรับชุมชนและกลุ่มชนอีกด้วย
วัฒนธรรมตะวันออก มีคุณค่าที่ส่งเสริมการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เพราะสอนให้คนลดความเห็นแก่ตัวและขจัดตัวกู - ของกู ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีคำสมัยโตกุกาวะคำหนึ่งคือ Makoto ซึ่งหมายถึง จิตบริสุทธิ์ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีอัตตา ความหมายของ makoto นี้ลึกซึ้งมากกว่าคำว่าความจริงใจ (sincerity) ในภาษาอังกฤษ เพราะ makoto เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงคุณธรรมภายในจิตใจแต่ละตนเอง ส่วนคำว่าความจริงใจนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำภายนอกตัวเรา ตัวอย่างของวัฒนธรรมตะวันออกที่ยกมากล่าวให้เห็นนี้ ก็เพื่อจะย้ำประเด็นของความสำคัญของวัฒนธรรม ในฐานะสภาวะทั้งหมดทางสังคม มิใช่เรื่องที่แยกออกต่างหากจากเศรษฐกิจและการเมือง
ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ในด้านที่เกี่ยวกับลักษณะของการเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไป ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ (ทฤษฎีไร้ระเบียบกับทางแพร่งของสังคมไทย) ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า สังคมไทยเรามีคลื่นของความไม่พร้อมมาเยือนพร้อมๆ กัน ซึ่งเรียกว่า "การมาพร้อมกันของความไม่พร้อม" ทั้งนี้เนื่องจากในด้านหนึ่งนั้น โลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็น ยุคหลังสังคมอุตสาหกรรมและยุคหลังความทันสมัย (Post - cold; post - industrial society; post - modernism) แต่สังคมไทยกลับอยู่ในยุคหลังสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งรุนแรงระดับชาติ - ท้องถิ่นและภูมิภาคมากขึ้น อีกทั้งยังอยู่ในยุคก่อนอุตสาหกรรมและในยุคก่อนทันสมัยอีกด้วย
ความกังวลใจที่ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้แสดงไว้โดยทั่วไปนี้ ยุคศรีอาริยะ (โลกาภิวัตน์ ๒๐๐๐ กับความตายของวัฒนธรรมและยุทธศาสตร์การปฏิวัติวัฒนธรรมโลก) ได้ให้ความเห็นที่ละเอียดลงไปอีก เกี่ยวกับความเสื่อมโทรม และความตายของวัฒนธรรมไทย ที่เกิดจากการรุกรานทางวัฒนธรรม จากศูนย์กลางของโลกทุนนิยม ยุคศรีอาริยะเห็นว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ การรุกทางวัฒนธรรมของโลกตะวันตก โดยอาศัยเงื่อนไขของการปฏิวัติทางการสื่อสารซึ่งเป็นพลังอำนาจใหม่ เขายังเห็นต่อไปอีกว่า การแพร่ระบาดของลัทธิปัจเจกบุคคล ก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ จมปลักอยู่ในอยู่ในโลกแห่งความบันเทงโลกมายา ไม่สนใจไยดีสังคมสังคมถึงขนาดที่ว่า ในบั้นปลายมันสมองของมนุษย์ก็จะถูกล้อมรอบด้วยวัฒนธรรมขยะ ซึ่งเป็นอาหารขยะ วัฒนธรรมน้ำเน่าและความจริงเทียมทั้งหลาย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ ที่มาแห่งความตายของวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ไม่ว่ายุคศรีอาริยะ จะมองภาพสังคมปัจจุบันอย่างไรก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็คือ สังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมเปิดมากขึ้น และเป็นภารกิจของทุกๆ ส่วนของสังคมที่จะรู้จักและเข้าใจหาความพอดีร่วมกัน
ประเด็นสำคัญที่ควรเน้นก็คือ ในขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมเปิดทางวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจ มาอย่างต่อเนื่อง และมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมค่อนขางมาก โดยเฉพาะทางศาสนาและขนบประเพณี การเปลี่ยนแปลงในกระแสโลก ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ มีลักษญะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ กระแสโลกานุวัตรนั้น เป็นกระแสของสังคมเปิดที่มิได้มีอุดมการณ์แบบสังคมปิดเจือปนอยู่ ต่างกับในยุคของอัศดงคตานุวัตร (Westernization) ซึ่งอารยธรรมของตะวันตก มีความคิด-ความเชื่อของศาสนาคริสต์ เจือปนอยู่มิใช่น้อย หรือในยุคสากลานวัตร (Internationalization) ซึ่งเป็นการแบ่งขั้วระหว่างสากลนิยมสองกระแส (สังคมประชาธิปไตยเสรี)
ในระยะที่สังคมไทย มีการเปิดทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นโยบายวัฒนธรรมที่เน้นชาตินิยมสามารถใช้ได้ในยุคสงครามเย็น การดูแคลนชาวจีน และการตอกย้ำความเป็นไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยเนื้อแท้แล้ว ก็ยังมีส่วนสำคัญในการกีดกันพลังทางเศรษฐกิจ ให้อยู่นอกวงการเมืองอีกด้วย ดังนั้น ข้อคิดของเกษียร เตชะพีระ เกี่ยวกับวัฒนธรรม (ไทย) ร่วมสมัยจึงชี้ประเด็นอย่างชัดเจนว่า ในยุคโลกานุวัตรนี้ แบบแผนทางวัฒนธรรมของปรากฏการณ์ความ (อยาก) เป็นไทยจึงมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะในกระแสโลกานุวัฒน์นั้น ความเป็นสากลไม่มีเชื้อชาติปรากฏอยู่ทั่วไปในวัฒนธรรมเศรษฐกิจ การบริโภคท่ามกลางการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นนี้ การวางตำแหน่งแห่งที่ให้สินค้าและบริการมีความเป็นสากล พร้อมๆ ไปกับผนึกความเป็นไทยเข้าไปกับความเป็นสากลนั้นด้วย ย่อมทำให้เกิดข้อได้เปรียบมากกขึ้น เพราะได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรม ให้กับสินค้าและบริการที่มีความทันสมัยและเป็นสากลนั้น
การตื่นขึ้นทางวัฒนธรรมในที่นี้ จึงไม่ใช่การหวนกลับไปสู่ความเป็นท้องถิ่นนิยม เผ่าชนนิยมและ ภูมิภาคนิยมอย่างคับแคบ หรือเอาวัฒนธรรมย่อยนั้นเป็นจุดหมายใหญ่ในตัวของมันเอง โดยไม่ยอมรับคุณค่าสากล ข้าพเจ้าหลีกเลี่ยงคำว่า "วัฒนธรรมใหญ่" หรือ "วัฒนธรรมชาติ" หากใช้คำว่าคุณค่าสากลแทน เพราะแท้จริงแล้ว คุณค่าสากลที่สังคมเรายอมรับมาเป็นเวลานานนี้ก็คือ คุณธรรม-คุณค่าของปรัชญาพุทธ จึงเป็นคุณค่า-คุณธรรมร่วมที่อยู่เหนือท้องถิ่นนิยม เผ่าชนนิยม ภูมิภาค และเชื้อชาติ-ภาษา เพราะการอยู่เหนือนั้นมิใช่ครอบงำหรือไปทำลายกดขี่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในทางตรงข้าม กลับเสริมให้โอกาสคนในสังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและยั่งยืน
ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า สังคมตะวันออกนั้นได้ถูกทำลายความเชื่อมั่น ในวัฒนธรรมของตนเอง มาเป็นเวลาเกือบสองร้อยปี ในขณะนี้วัฒนธรรมตะวันออก ซึ่งเป็นศาสนาพุทธเป็นส่วนหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมที่อธิบายความซับซ้อนของโลก ได้ดีกว่าวัฒนธรรมตะวันตก เพราะวัฒนธรรมตะวันออก รวมทั้งพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมที่มีขันติธรรมสูงต่อความแตกต่างหลากหลาย และยอมรับว่าความแตกต่างอาจดำรงอยู่ควบคู่กันได้ แม้จะเป็นคู่ตรงข้าม ที่สำคัญก็คือในยุคสมัยที่สังคมเรามีความลักลั่นระหว่างภาคส่วนต่างๆ วัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา มีวิถีทางที่จะจัดการให้ภาคส่วนต่างๆ นั้นสามารถปรับตัวได้โดยวิถีทางหลายวิถี มิใช่ใช้วิถีทางเดียวหรือนโยบายเดียว แต่ในระยะเวลาของการสร้างรัฐประชาชาติ ความเป็นเอกภาพ คือ จุดเน้นจนนำไปสู่ความพยายามที่จะทำให้เกิดเอกภาพ ในสิ่งที่มีความแตกต่างหลากหลายมากจนเกินไป ถึงขนาดที่ละเลยธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของการเมือง - การปกครอง ซึ่งผู้ปกครองมีวิเทโศบายมากกว่าหนึ่งอย่างในการทำให้ชนชาติต่างๆ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และต่างมีบทบาทเฉพาะในการสร้างความร่ำรวยทางวัฒนธรรมหรือสร้างความมั่นคงให้แก่รัฐได้
เมื่อเราตื่นขึ้นได้ และสามารถลืม หรือปลดแอก จากการครอบงำทางความคิด ของตะวันตกได้แล้ว เราก็สามารถคิดค้นรูปแบบ กระบวนการและวิธีการแก้ไขปัญหาทางสังคมเราได้ และสามารถอาศัยพลังทางวัฒนธรรม จัดการกับการเปลี่ยนแปปลงที่ซับซ้อนได้ด้วยการจัดการแก้ปัญหาโดยมัชฌิมวิถี
มัชฌิมวิถี :
มิชฌิมวิถีเกิดจากความคิดทางพุทธ ซึ่งแตกต่างไปจาก ความคิดที่เป็นต้นเค้า ของระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งอาศัยหลักการของอริสโตเติล และนิวตัน ในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคม
ปัญหาที่อริสโตเติลก่อให้เกิดขึ้นในระบบคิดแบบตะวันตกในยุคต่อมา ก็คือความคิดที่ว่า สิ่งเดียวกันไม่สามารถจะเป็นของวัตถุเดียวกัน และไม่เป็นของวัตถุเดียวกันนั้นในลักษณะเดียวกันนั้นในเวลาเดียวกันได้ กฎนี้เรียกว่า กฎแห่งความขัดแย้งภายในสิ่งหนึ่งๆ คือ สิ่งๆ หนึ่งจะมีลักษณะที่ขัดแย้งกันอยู่ร่วมกันไม่ได้ จะเป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่อาจมีลักษณะ "หัวมกุฎท้ายมังกร" ได้
กฎข้อนี้จึงห้ามมิให้สิ่งที่มีลักษณะตรงข้ามกันมีความคาบเกี่ยวซ้อนกัน กฎนี้จึงเป็นอุปสรรคต่อการคงอยู่ร่วมกัน ของความซับซ้อนแตกต่างหลากหลาย ในเวลาเดียวกัน นอกจากกฎข้อนี้แล้ว ความคิดของอริสโตเติล ที่มีอิทธิพลอย่างมากอีกกฎหนึ่งก็คือ สิ่งสองสิ่งที่เป็นคู่ตรงกันข้ามคนละขั้ว จะต้องมีอยู่โดยปลอดภัยจากสิ่งอื่นเข้ามาแทรกตรงกลาง
แนวคิดแบบพุทธ จึงอธิบายความเป็นกลางๆ ของสรรพสิ่ง ไม่สุดขั้ว - ขาว - ดำ และยอมรับการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่งที่มีลักษณะตรงข้ามขัดแย้งกันได้
เราสามารถอาศัยแนวคิดแบบพุทธ ออกแบบ (Design) ความสัมพันธ์ทางการเมืองใหม่ได้
เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของกการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
๑.แนวคิดเรื่องกาล - เทศะ ช่วยให้เรามีความเข้าใจ ในความจำเป็นที่จะต้องลด หรือขจัดแนวโน้มที่รัฐมีบทบาทในการกำหนดภารกิจทางประวัติศาสตร์ให้แก่สังคม ในอดีตการ "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" เป็นการสะท้อนถึงแนวคิดเรื่องกาลเวลา ในแง่ของการมีวีรบุรุษกำหนดชะตากรรมของชาติ แนวคิดเรื่องกาล - เทศะของพุทธปรัชญาจะทำให้เราระลึกว่า ทุก ๆ ส่วนของสังคมต่างออยู่ร่วมกัน ภายใต้การเคลื่อนไปเป็นกระแสของกาลเวลา ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นกฎธรรมชาติ ไม่หวั่นเกรงการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง
๒.ความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งมีถึง ๔ ระบบ เรียกร้องให้เราต้องออกแบบระบบการเมือง ที่สามารถแยกแยะจัดการกับลักษณะของเศรษฐกิจ แต่ละระบบ หรือ demassify มิใช่คิดถึงมวลชนว่าเหมือนกันหมด
ระบบการเมือง - การปกครองที่จัดเป็น ๔ ระบบนี้ อาจเรียกว่าเป็นระบบจัตุโลกบาล มิใช่ระบบรัฐบาล เพราะระบบรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของการที่รัฐประชาชาติมีบทบาทหลัก และทั้งแง่ของพลังข้ามรัฐและลอดรัฐ (ระดับบรรษัทข้ามชาติ และระดับคนลอดรัฐเข้ามา ซึ่งบางคนเรียกว่า คนข้ามชาติหรือ Transnational people แต่ข้าพเจ้าอยากแยกแยะว่า transnational people นี้มีสองพวก คือ พวกที่ทำงานกับบรรษัทข้ามชาติกับผู้อพยพย้ายถิ่นข้ามดินแดน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการเล็ดลอดข้ามแดนมากกว่า)
การจัดให้ระบบการเมืองสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ ๔ แบบนี้ไม่ใช่หมายถึง การมีระบบการเมือง ๔ ระบบ แต่หมายถึงการมีความหลากหลายอย่างน้อย ๔ รูปลักษณ์ ในการจัดการกับลักษณะหลายลักษณะของระบบเศรษฐกิจ ที่เน้นให้จัดรูปลักษณ์ และกระบวนการทางการเมือง ให้สอดคล้องกับลักษณะ ๔ ลักษณะของเศรษฐกิจ ก็เพราะพลังทางเศรษฐกิจ เป็นพลังหลัก ที่ผลักดันความสัมพันธ์ของสังคมเสมอมา ระบบจัตุโลกบาลจึงเป็นระบบการเมืองที่ไม่ได้มีเป้าหมายเดียว นโยบายเดียว วิธีการเดียว ซึ่งแต่เดิมเป็นรูปลักษณ์ของรัฐประชาชาติ ในทางตรงกันข้าม ควรคิดออกแบบรูปลักษณ์และกระบวนการทางการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ทุกๆ ส่วนของสังคมได้มีบทบาท โดยยกเลิกระบบการเมือง ที่ถือเอาเสียงข้างมากเป็นการชี้ขาด แต่ออกแบบสถาบัน และกระบวนการทางการเมือง ที่สามารถรองรับเสียงข้างน้อย ให้หลากหลายทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองใหม่นี้ เนื่องจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงเทศะ (Space) หรือความสัมพันธ์ทางเทศะ (spatial relation) จึงจะต้องมาแทนความสัมพันธ์ทางองค์กรแบบกรม กล่าวคือ จะต้องมีการจัดการแบ่งปันทรัพยากร ทั้งทางธรรมชาติและทางงบประมาณ โดยยึดถือความสัมพันธ์ของคนกับพื้นที่มากกว่าความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม คือ คนกับแผนงานของกรม การพลิกกลับให้กิจกรรมส่วนใหญ่เริ่มมาจากความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับคนและปัญหา แล้วจึงระบุบทบาทหน้าที่ขององค์กรในพื้นที่นั้น จะสามารถพลิกสถานการณ์ใหม่ให้เกิดการลดปัญหา และเพิ่มศักยภาพของพลังทุกส่วนในสังคมได้.